วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

บิดเบือนราคา“น้ำมัน-แอลพีจี”

พลังงานถือเป็นปัจจัยที่มีความสำคัญอย่างมาก เพราะเกี่ยวโยงกับกิจกรรมทุกประเภท ไม่ว่าจะเป็นภาคประชาชนหรือธุรกิจ นับวันความต้องการใช้เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องและเป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาที่พุ่งสูงขึ้น ซึ่งรัฐบาลทุกยุคทุกสมัยพยายามแก้ปัญหาด้านราคาควบคู่กับการรณรงค์ให้ประหยัดพลังงานกันอย่างเต็มที่ แต่พลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ประเทศไทยไม่ได้ผลิตเอง ทำให้ไม่สามารถกำหนดราคาตามต้นทุนการผลิตได้

ที่เห็นได้ชัดเจนคือก๊าซแอลพีจี แม้ไทยจะผลิตเองได้แต่ปริมาณการใช้เพิ่มขึ้นอย่างมากจากการใช้ในการขนส่ง ผลพวงราคาน้ำมันแพงทำให้ประชาชนหันมาใช้ก๊าซแอลพีจีแทน โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรี มีนโยบายปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีใหม่

นายกรณ์ จาติกวณิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า นายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้เร่งศึกษาการใช้มาตรการลดค่าครองชีพในระยะยาว โดยในส่วนของก๊าซแอลพีจีมอบหมายให้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ศึกษาโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจีว่าสามารถแยกเป็น 2 ราคาคือ ภาคครัวเรือนกับภาคขนส่งและภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ได้หรือไม่ เพราะมองว่าในฐานะที่ไทยเป็นผู้ผลิตก๊าซธรรมชาติประชาชนควรได้ใช้ทรัพยากรของประเทศในราคาต้นทุน ขณะที่ผู้ประกอบการที่ใช้เพื่อการพาณิชย์ควรใช้ในราคาตลาดโลก

ด้านนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เห็นด้วยหากรัฐบาลจะปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี โดยกำหนดเป็น 2 ราคาคือ 1.กลุ่มราคาขนส่งและอุตสาหกรรม 2.กลุ่มราคาอุตสาหกรรมและปิโตรเคมี เนื่องจากช่วยชะลอการนำเข้าก๊าซแอลพีจีจากต่างประเทศได้ เพราะหากจะใช้นโยบายตรึงราคาต่อเนื่องอาจทำให้ปริมาณการนำเข้าสูงถึง 1 ล้านตันต่อปี ซึ่งจะสร้างภาระให้แก่กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงในการจ่ายชดเชยการนำเข้าในแต่ละเดือน

ทั้งนี้ การตรึงราคาก๊าซเป็นปัญหาต่อเนื่องมาหลายรัฐบาล ซึ่ง ปตท. ในฐานะหน่วยงานปฏิบัติพร้อมจะดำเนินการตามนโยบาย แต่หากไม่ปรับโครงสร้างราคาเลยปริมาณการนำเข้าจะเพิ่มขึ้น เงินที่ต้องนำไปอุดหนุนราคาไม่ได้มาจากภาครัฐโดยตรง แต่มาจากประชาชนที่เรียกเก็บจากผู้ใช้น้ำมันในแต่ละลิตร ขณะที่การลงทุนโรงแยกก๊าซแห่งใหม่และปิโตรเคมีคงไม่มีใครกล้าเข้ามาลงทุนเพิ่ม เพราะอาจเจอกับปัญหาขาดทุน

ปัจจุบัน ปตท. เป็นผู้รับภาระนำเข้าก๊าซแอลพีจี โดยกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงจะจ่ายชดเชยให้ ซึ่งกองทุนน้ำมันยังมีภาระหนี้เก่าค้างจากปีก่อนๆประมาณ 6,000-7,000 ล้านบาท ซึ่งภาระนำเข้าก๊าซแอลพีจีแต่ละปีอยู่ที่ 15,000-20,000 ล้านบาทต่อปี จากยอดนำเข้าประมาณ 120,000-150,000 ตันต่อเดือน หรือ 1.5 ล้านตันต่อปี หากรัฐยังไม่ปรับโครงสร้างราคาก๊าซแอลพีจี โดยยังตรึงราคาหน้าโรงกลั่นและโรงแยกก๊าซธรรมชาติที่ 333 ดอลลาร์สหรัฐต่อตัน และกำหนดราคาขายปลีก 18.13 บาทต่อกิโลกรัมต่อไป บนสมมุติฐานโรงแยกก๊าซธรรมชาติแห่งที่ 6 หากเปิดดำเนินการได้อาจช่วยลดการนำเข้าให้ต่ำกว่า 100,000 ตันต่อเดือนได้บ้าง แต่ในภาพรวมตลอดทั้งปีการนำเข้ายังสูงถึง 1 ล้านตันต่อปี เพราะยอดการใช้ในภาคอุตสาหกรรมยานยนต์และการลักลอบส่งออกชายแดนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ยอดใช้เพิ่มขึ้น 10% ต่อปี

อย่างไรก็ตาม เรื่องนี้ยังไม่สามารถดำเนินการได้ภายในระยะเวลาอันสั้น เพราะต้องศึกษาอย่างละเอียดรอบด้านระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อไม่ให้เป็นภาระของทั้งประชาชนและรัฐบาลมากเกินไป โดยนายวรรณรัตน์ ชาญนุกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ระบุว่า กระทรวงพลังงานอยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียดนโยบายการแยกราคาก๊าซแอลพีจีเป็น 2 ตลาด ซึ่งคงต้องดูว่าจะใช้วิธีไหนที่ทำให้ภาคครัวเรือนใช้ก๊าซแอลพีจีในราคาต้นทุนได้บ้าง หากจะเลือกวิธีการดังกล่าวจะนำมาใช้หลังจากครบกำหนดมาตรการตรึงราคาก๊าซแอลพีจีในเดือน ก.พ. 2554

“ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ว่าราคาภาคครัวเรือนจะแพงหรือถูกกว่าราคาที่ตรึงไว้ 18.13 บาทต่อกิโลกรัม คงต้องดูถึงผลการศึกษาอีกครั้ง ซึ่งได้มอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษาเรื่องการแยกราคาก๊าซแอลพีจีเตรียมไว้ โดยพิจารณาตามความเหมาะสมในทุกๆด้าน พร้อมกันนี้ต้องให้ความเป็นธรรมแก่ทุกฝ่ายทั้งประชาชนและภาคธุรกิจ”

สำหรับข่าวดีด้านราคาน้ำมัน หลังจากนายมั่น พัธโนทัย รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เข้ามารับตำแหน่งก็มีนโยบายปลอบขวัญประชาชนในภาวะที่เศรษฐกิจเพิ่งฟื้นจากไข้ บวกกับราคาสินค้าแพงมาก โดยจะทำให้ราคาน้ำมันขายปลีกลดลงประมาณ 2 บาทต่อลิตร

ทั้งนี้ รัฐบาลต้องหาแนวทางช่วยเหลือกลุ่มต่างๆที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาราคาน้ำมันที่ยังอยู่ในระดับสูง ทั้งเกษตรกร ชาวประมง และประชาชนทั่วไป โดยใช้วิธีการต่างๆในฐานะเป็นกรรมการในคณะอนุกรรมการน้ำมันใน กพช. เพื่อเสนอที่ประชุมหาแนวทางดำเนินการลดราคาน้ำมัน

“ผมอยู่ในวงการน้ำมันมา 20 ปี รู้ว่ามีช่องทางที่จะลดได้ โดยจะพยายามเสนอ แต่ต้องยอมรับว่าวิธีที่ปล่อยให้ลอยตัวเป็นสากลมากกว่า รัฐบาลไม่ควรไปกำกับ แต่สำหรับเมืองไทยแล้วบางช่วงควรปล่อยให้รัฐเข้าไปแทรกแซงบ้าง เพราะเราเป็นประเทศที่ใช้พลังงานมาก” นายมั่นกล่าวด้วยความมั่นใจ

อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันยังไม่เหมาะที่จะลดภาษีสรรพสามิตน้ำมัน ดังนั้น แผนดังกล่าวคงต้องชะลอออกไปก่อน แต่หากน้ำมันดิบในตลาดโลกเพิ่มสูงถึง 80 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาร์เรล หรือราคาดีเซลในประเทศเพิ่มขึ้นถึง 30 บาทต่อลิตร คาดว่านายกรัฐมนตรีคงจะนำมาพิจารณาอีกครั้ง

สำหรับผลพวงของราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศที่สูงขึ้น ทำให้มีปัญหาลักลอบนำเข้าน้ำมันอย่างต่อเนื่อง เพราะราคาน้ำมันในประเทศเพื่อนบ้านมีราคาถูกกว่า และช่วงหลังมักมีการลักลอบนำเข้าในปริมาณมากขึ้น รวมถึงมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบหลากหลาย ทำให้กรมสรรพสามิตต้องฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ให้ทันขบวนการลักลอบนำเข้าน้ำมันเถื่อนที่ทำกันถึงขั้นขุดเจาะอุโมงค์เลยทีเดียว

ส่วนการจัดเก็บภาษีสรรพสามิตยังคงเกินเป้า โดย ณ สิ้นเดือน มิ.ย. จัดเก็บได้ 340,000 ล้านบาท ดังนั้น ช่วงที่เหลืออีก 3 เดือนน่าจะจัดเก็บภาษีได้เกินเป้าที่ 3.66 ล้านบาท คาดว่าจะจัดเก็บภาษีได้ประมาณ 370,000-380,000 ล้านบาท หรือเกินเป้า 80,000-90,000 ล้านบาท ทั้งนี้ รายได้หลักมาจากภาษีสรรพสามิตน้ำมันจัดเก็บได้สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลังปรับเพิ่มภาษีสรรพสามิตน้ำมัน จากเดิมจัดเก็บได้ประมาณ 100,000 ล้านบาท เพิ่มเป็น 150,000 ล้านบาท รวมถึงภาษีรถยนต์ เพราะไทยสามารถผลิตรถยนต์เพื่อการส่งออกได้ถึง 800,000 คัน และผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ 600,000 คัน

นอกจากยี้คณะรัฐมนตรีเศรษฐกิจยังมอบหมายให้กระทรวงการคลังและกระทรวงพลังงานร่วมกันศึกษาลดภาษีสนับสนุนการผลิตรถยนต์ใช้น้ำมันอี 85 เพราะปัจจุบันมีแผนผลิตรถยนต์ประหยัดพลังงานรูปแบบต่างๆ กระทรวงการคลังจึงตั้งคณะทำงานศึกษามาตรการทางภาษีสนับสนุนรถยนต์ที่ใช้เทคโนโลยีแบบใหม่ ไฮบริด น้ำมันอี 20 อี 85 ดังนั้น จึงต้องศึกษาทั้งระบบเพื่อให้สอดคล้องกัน

มาถึงตรงนี้แล้วประชาชนทั้งหลายอาจจะฝันค้างกันอีกพักใหญ่ เพราะนโยบายแยกราคาก๊าซแอลพีจีและลดราคาน้ำมันในประเทศยังเป็นเพียงแผนเชิงความคิด ยังต้องผ่านกระบวนการทางความคิดอีกพอสมควร ซึ่งจะว่าไปแล้วทุกวันนี้ประชาชนส่วนใหญ่ต่างทำใจรับสภาพน้ำมันมีราคาแพงได้บ้างแล้ว เกรงว่าการบิดเบือนราคาน้ำมันเพื่อให้ถูกลงจะทำให้เกิดภาวะช็อกกับราคาตามความเป็นจริงเมื่อรัฐบาลหมดแรงอุ้มในอนาคตขึ้นมาอีก

http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=7256

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น