วันอาทิตย์ที่ 11 กรกฎาคม พ.ศ. 2553

ค้นหาความหมายจากความตาย 90 ศพ

“ตวงพร อัศววิไล” สัมภาษณ์ “รศ.ดร.กฤตยา อาชวนิจกุล” นักวิชาการจากสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล ในรายการ Intelligence ทาง VoiceTV เพื่อ “ค้นหาความหมายจากความตาย 90 ศพ” จากการชุมนุมของคนเสื้อแดงในเหตุการณ์เดือนเมษายน-พฤษภาคม 2553 ซึ่งมีหลายประเด็นที่น่าสนใจ โดยเฉพาะการคืนความยุติธรรมให้กับผู้บาดเจ็บและเสียชีวิตที่รัฐบาลเป็นคู่ขัดแย้งโดยตรง จึงทำให้มีการตั้งคำถามถึงการตรวจสอบข้อเท็จจริงที่แทบไม่ปรากฏเป็นข่าวใดๆออกมาเลย ต่างกับเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่ง รศ.ดร.กฤตยาเคยทำงานอยู่ในศูนย์ฮอตไลน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ที่มีการจัดตั้งองค์กรร่วมภาครัฐและภาคประชาชนเพื่อติดตามการช่วยเหลือผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต และสูญหาย โดยความร่วมมือของกรมตำรวจ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานทางการแพทย์ ทำให้ขั้นตอนการตรวจสอบโปร่งใส

เชิงอรรถความตาย

ในบทความที่ดิฉันเขียน ดิฉันตั้งชื่อ “เชิงอรรถความตาย” เนื่องจากการเสียชีวิต การบาดเจ็บในกรณีความไม่สงบในการชุมนุมทางการเมืองของประเทศไทยมีมาหลายครั้ง เรื่องราวของผู้สูญเสียชีวิตส่วนใหญ่จะเป็นในเชิงอรรถ ไม่ได้มีสาระสำคัญมากนักในการบันทึกประวัติศาสตร์ แล้วการบันทึกประวัติศาสตร์ในทั่วโลกเป็นประวัติศาสตร์ของผู้ชนะ เพราะผู้ชนะเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ เหตุที่ดิฉันลองศึกษาเรื่องนี้ดูก็เป็นเหตุผลเดียวคืออยากเรียกร้องความยุติธรรมให้กับผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ครั้งนี้ เนื่องจากเคยทำงานเป็นผู้ประสานงานศูนย์ฮอตไลน์ของมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเป็นศูนย์ร้องเหตุเรื่องราวเกี่ยวกับผู้สูญเสียชีวิต ผู้บาดเจ็บ และผู้สูญหาย และเป็นศูนย์เดียวที่ทำงานต่อเนื่องมาประมาณปีเศษ จนมีเอกสารทางวิชาการออกมาสรุปให้มหาวิทยาลัยมหิดลเป็นผู้ดำเนินงาน

แต่คราวนี้เราไม่มีศูนย์แจ้งเหตุเหมือนสมัยปี 2535 หลังจากเหตุการณ์สงบลงมีศูนย์รับแจ้งเหตุทั้งหมด 8 ศูนย์ รวมกับของมหิดล หลายศูนย์เป็นของมหาวิทยาลัย เช่น รามคำแหง จุฬาฯ มหิดล สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) มีมูลนิธิเด็กมาช่วยกันทำ มีของมหาดไทยด้วย ดิฉันตั้งข้อสังเกตประการแรกว่าในกรณีความไม่สงบ หรือดิฉันเรียกเองว่าเป็นการปราบปรามประชาชน ศูนย์รับแจ้งเหตุเหล่านี้ของภาครัฐหรือของมหาวิทยาลัยไม่มี มีเฉพาะศูนย์รับแจ้งเหตุของมูลนิธิของเรากับอีกหนึ่งแห่ง ถ้าจำไม่ผิดน่าจะเป็นคณะทำงานเกี่ยวกับมนุษยชนอีกแห่งหนึ่งหรือ 2-3 แห่ง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นภาคประชาชนเท่านั้น แล้วตัวเลขที่นำมาใช้เป็นตัวเลขที่สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติประมวลรวมมาจากเอกสารของโรงพยาบาลต่างๆที่บันทึกเหตุการณ์ไว้ ซึ่งเป็นข้อมูลคร่าวๆมาก ไม่ได้เป็นข้อมูลที่มีรายละเอียดเท่าไร

ไม่มีข้อมูลการชันสูตรพลิกศพ

สมัยพฤษภา 2535 การเสียชีวิตมีการบันทึก การชันสูตรอยู่ในเกณฑ์ที่คิดว่าพอรับได้ มีบันทึกแพทย์ทำให้เห็นแผลแต่ละแผล มีมุม มีลักษณะที่ถูกยิง ปืนที่ใช้ยิงเป็นลักษณะแบบไหน อย่างไร เป็นการจ่อยิง เป็นบาดแผลอย่างไร สมัยนั้น ศ.นพ.วิฑูรย์ อึ้งประพันธ์ ทำการวิเคราะห์เอกสารที่ชันสูตรศพ 39 ศพ จากทั้งหมด 44 ศพ แล้วก็มีบันทึกที่นำเอามาใช้ได้ ในขณะนั้นอาจารย์วิฑูรย์บอกว่ายังไม่สมบูรณ์ ควรจะต้องปรับปรุง แต่เหตุการณ์นั้นผ่านมา 18 ปี สิ่งที่น่าตกใจในเชิงระบบการแพทย์เองก็ไม่มีบันทึกที่ครบสมบูรณ์ อย่างน้อยถ้าเทียบกับปี 2535 ตอนนั้นยังมีมากกว่า

เป็นคำถามสำหรับหน่วยแพทย์ที่เกี่ยวข้อง โรงพยาบาลที่เกี่ยวข้องทุกแห่ง สถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติก็จะแบ่งได้เป็น 3 กรณีคือ 1.ศพส่งที่ไหนแล้วก็ชันสูตรที่นั่น ซึ่งการชันสูตรเป็นแบบไหนเขายังไม่เห็นเอกสาร เขาเพียงแต่เขียนว่าชันสูตร 2.ศพส่งไปที่ไหนแล้วไปชันสูตรอีกที่หนึ่ง และ 3.ไม่มีข้อมูลชันสูตรศพเลย ประมาณ 1 ใน 3

ทีนี้ที่น่าสนใจคือ ศพที่ถูกยิงในเหตุการณ์และเสียชีวิตในวันที่ 10 เมษายน ซึ่งมีทั้งหมด 26 ศพ บอกว่ามีการชันสูตรศพ แต่พอหลังจากนั้นคือหลังวันที่ 28 เมษายนที่มีการปะทะกันบนถนนวิภาวดีรังสิต แล้วมีทหารเสียชีวิตนายหนึ่งซึ่งบอกว่ายิงกันเอง ก็ไม่มีการชันสูตรศพ แล้วมาวันที่ 13 พฤษภาคม วันที่ เสธ.แดงถูกยิง จนมาถึงวันที่ 19 และ 20 พฤษภาคม มีผู้เสียชีวิตอีก เอา 26 ลบ 90 ทั้งหมดนี้แค่ 1 ใน 3 เท่านั้นที่มีการชันสูตรศพ อันนี้เป็นคำถามของวิธีการว่าเกิดอะไรขึ้นถึงไม่มีการชันสูตรศพที่เหมาะที่ควร ที่สามารถจะใช้เป็นหลักฐานได้ว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนั้นลักษณะความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน

อันนี้สิ่งที่เราต้องเรียกร้องจากผู้ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องว่าข้อมูลเหล่านี้ ข้อมูลที่จะช่วยทำให้ภาพชัดเจน เพื่อช่วยคืนความยุติธรรม ถ้าไม่สามารถทำได้ในวันนี้ก็อาจทำได้ในวันข้างหน้า แต่น่าเสียดายว่าถ้าเราไม่ได้ทำ ศพต่างๆก็มีการฌาปนกิจไปแล้วส่วนใหญ่ การที่เราจะได้ข้อมูลเหล่านี้ก็มีน้อยหรือไม่มีเลย จะเป็นการเจตนา เป็นการจงใจหรือไม่ เราไม่ทราบ แต่เราในฐานะที่ทำงานด้านมนุษยชน เรามีความรู้สึกว่าภาครัฐหรือทางการแพทย์ไม่น่าจะเป็นอย่างนั้น ดิฉันไม่รู้ว่าจะไปเรียกร้องใคร จะไปเรียกร้องแพทย์ฉุกเฉินหรือไปเรียกร้องใครไม่รู้

การเสียชีวิตของเจ้าหน้าที่อาสาสมัคร

จริงๆเหตุการณ์นี้มีความน่าสนใจและมีความประหลาดในแง่การเสียชีวิต หน่วยกู้ภัยอย่างน้อยมีวชิระ 1 ราย ป่อเต็กตึ๊ง 2 ราย มีน้องเกดที่เป็นอาสาสมัครพยาบาลที่เสียชีวิตในวัดปทุมวนาราม ทั้งหมดรวม 5 ศพ แล้วยังมีคนที่ถูกยิงบาดเจ็บทั้งสาหัสและไม่สาหัสประมาณ 10 กว่าคน คำถามคือทำไมเมื่อมีประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน เรามีทหารจำนวนมาก กระบวนการเหล่านี้ซึ่งรัฐบาลประกาศเองว่าจะเบาไปหาหนัก ทำไมไม่มีกระบวนการของผู้ที่จะเข้าไปทำตรงนี้ จะได้ไม่ต้องบาดเจ็บ เพราะเขามีเครื่องหมายอยู่ แม้รัฐบาลจะพูดว่าทหารไม่ได้ยิง แต่ใครยิง รัฐบาลต้องทำเรื่องพวกนี้ให้ชัดเจน อันนี้เป็นอันที่หนึ่ง

อันที่สองคือเรามีนักข่าวต่างประเทศที่เสียชีวิต 2 ราย รายแรกเป็นคนญี่ปุ่น ซึ่งมีคำถามมากว่าทำไมถึงถูกยิงที่ท้องจนเสียชีวิต อีกรายเป็นนักข่าวอิตาลี ยังไม่รวมนักข่าวที่บาดเจ็บทั้งไทยและต่างประเทศอีกหลายราย อันนี้ก็ตั้งคำถามมากว่าเกิดอะไรกับนักข่าวซึ่งเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก ซึ่งก็แปลกเหมือนกัน

กระบวนการปรองดอง

มีกลไกที่ต้องทำต่อเนื่องและทำได้เลย เพียงแต่กลไกเหล่านั้นถ้าทำจริงเขามีโอกาสที่จะพูดไหม ดิฉันยกตัวอย่างอันอื่นที่ไม่เกี่ยวกับเรื่องนี้เลย เช่น สมมุติมีไข้หวัดนก ฝ่ายกระทรวงสาธารณสุขทำงานเลย ไม่รอรัฐบาลสั่ง เพราะรอไม่ได้ อันนี้ก็เหมือนกัน หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลไกที่เกี่ยวข้องต้องทำงานทันที ไม่ต้องรอให้รัฐบาลสั่ง เหล่านี้เขาทำหรือไม่ อันนี้เราไม่ทราบ

วาทกรรมผู้ก่อการร้าย

กรณีวันที่ 10 เมษายนมีความชัดเจนว่ามีผู้เจตนายิงระเบิดเอ็ม 79 เข้าใจว่าอย่างนั้น ไปตกที่โรงเรียนสตรีวิทยา ทำให้ทหารเสียชีวิต 5 นาย อันนี้ก็เป็นเรื่องซึ่งรัฐบาลจะต้องสืบสวนสอบสวนออกมาว่าใคร แล้วเหตุการณ์วันที่ 10 นั้นเองก็มีภาพปรากฏที่เรียกกันใส่ในเครื่องหมายคำพูดว่าเป็น “ชายชุดดำ” แมนอินแบล็กเหมือนหนังฮอลลีวู้ดออกมา แล้ววันที่ 12 เมษายน ศอฉ. ก็ประกาศเลยว่าเป็นผู้ก่อการร้าย คำว่า “ผู้ก่อการร้าย” มาถูกใช้หลังวันที่ 10 เมษายน หลังจากที่มีการล้อมปราบครั้งแรก ถ้าสมมุติไปอ่าน พ.ร.ก.ฉุกเฉินในมาตราใดมาตราหนึ่งจะมีการพูดถึงสถานการณ์เหล่านี้ว่า ถ้ามีผู้ก่อการร้ายก็สามารถทำอะไรต่ออะไรได้เยอะ เพราะฉะนั้นดิฉันเข้าใจว่าผู้คิดคำนี้ขึ้นมา ซึ่งเราเรียกว่า “วาทกรรมผู้ก่อการร้าย” ก็เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการจะล้อมปราบปราม หรือการที่จะมีการสูญเสียเกิดขึ้น

สังคมไทยได้เรียนรู้อะไรบ้าง

อันที่จริงถ้ามีการชุมนุมในลักษณะนี้ดิฉันเองก็ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งที่มีผู้เสียชีวิต ถ้าดิฉันเป็นผู้ชุมนุมเอง ดิฉันคงเลิกชุมนุม พูดตรงไปตรงมาเลย ถ้าดิฉันเป็นแกนนำ นปช. แต่ปรากฏว่าไม่มีการเลิกชุมนุม ในฐานะที่เป็นรัฐบาล ดิฉันก็คิดว่ารัฐบาลไม่มีสิทธิที่จะยิงประชาชน และไม่เห็นด้วยกับการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน คือยังไงรัฐบาลจะใช้มาตรการอย่างที่เคยพูดว่าจากเบาไปหาหนัก แต่วันที่ 10 เมษายนยังมีการใช้แก๊สน้ำตา มาตรการรัฐบาลใช้หนักมากแล้วก็หนักขึ้นไปเรื่อยๆ เพราะฉะนั้นไม่ใช่มาตรการเบาไปหาหนัก และไม่มีที่ไหนในโลกเอาป้ายไปติดไว้ว่า “ตรงนี้ใช้กระสุนจริง” ซึ่งพอหลังจากติดไปแล้วก็ดึงออก คงคิดได้ ตรงนี้โดยสถานการณ์แล้วสำหรับดิฉันมีความรู้สึกว่ามันเกินกว่าเหตุ

การค้นหาความหมายการบาดเจ็บล้มตาย

ที่บอกว่าข้อมูลไม่ครบถ้วน โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลที่เกิดขึ้นวันที่ 13, 14, 15, 16, 17, 18, 19 พฤษภาคม ขาดความชัดเจน เป็นความพร่าเลือน เป็นข้อมูลที่เราไม่เห็นภาพจริงๆว่าเกิดอะไรขึ้น แล้วทุกอย่างรัฐบาลก็โยนด้วยการใช้คำว่า “ผู้ก่อการร้าย” ประหนึ่งเหมือนกับว่าทุกชีวิตที่สูญเสียไปในเหตุการณ์ครั้งนี้เป็นสิ่งซึ่งผู้ก่อการร้ายทำ กระสุนปืนที่เบิกออกมาจากคลังของกองทัพจำนวนเป็นหมื่นนัดที่ถูกยิงไปจากกระบอกปืนของทหาร มีนักข่าวต่างประเทศถ่ายไม่ได้ออกโทรทัศน์ไทย ไปออกโทรทัศน์ต่างประเทศจำนวนมาก เหมือนว่ากระสุนเหล่านั้นไม่ได้ไปทำร้ายชีวิตของผู้ชุมนุมเลย ซึ่งในข้อเท็จจริงและโดยอนุมานจากสายตาเป็นเรื่องที่เป็นไปไม่ได้ เพราะฉะนั้นส่วนหนึ่งของการเสียชีวิตมาจากกระสุนปืนที่มาจากฝ่ายทหารของรัฐบาลที่ล้อมปราบ

แตกต่างจากพฤษภาคม 2535 อย่างไร

มีความแตกต่างกันมาก รวมทั้งกรณีผู้สูญหายด้วย เนื่องจากมีการประชุมของกระทรวงมหาดไทยและของกรมตำรวจในสมัยนั้นชัดเจน แล้วก็มารวมกับศูนย์ฮอตไลน์ทีหลังเพื่อค้นหาความกระจ่าง มันมีความชัดเจนและทำมาต่อเนื่อง คือแม้ว่าจบโครงการไปแล้ว แต่เข้าใจว่ารัฐบาลสมัยคุณทักษิณก็ยังมาตั้งอดีตนายกฯอานันท์เพื่อตามเรื่องผู้สูญหายอีก ซึ่งตอนนั้นก็ทำกันอยู่ ดิฉันก็เข้าไปเป็นอนุกรรมการอยู่ช่วงหนึ่ง รวมทั้งค่าชดเชยที่ให้อย่างไม่เป็นธรรมในอดีตก็กลับมาแก้ไข ชุดนั้นคุณหมอประเวศเป็นประธานอนุกรรมการก็มาทำ

ดิฉันเข้าใจว่าเหตุการณ์นี้เป็นเหตุการณ์ที่รัฐบาลจำเป็นที่จะต้องทำ คือจริงๆแล้วเงินช่วยเหลือมีประโยชน์สำหรับคนที่สูญเสียชีวิตไป แต่สิ่งที่เขาต้องการมากกว่านั้นคือให้เงินน้อยแล้วยังไม่ให้ความชัดเจนกับการเสียชีวิตของแต่ละคน ดิฉันเข้าใจว่าญาติต้องการความชัดเจนมากกว่า

เปรียบเทียบกับผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้

ดิฉันเข้าใจว่า “ผู้ก่อการไม่สงบ” เป็นการคิดอย่างใคร่ครวญรอบคอบถึงคนที่เขาพูดถึง ซึ่งปฏิบัติการในพื้นที่ภาคใต้หมายถึงว่าเขาไม่ต้องการแยกคนเหล่านั้นออกไปจากสังคมไทย เพราะฉะนั้นเขามองว่าคนเหล่านั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของสังคมไทย เราอาจเห็นต่างเห็นแย้งกับภาครัฐในการใช้ภาษา แต่เมื่อใช้ “ก่อการร้าย” มันมีลักษณะของความเป็นศัตรูชัดเจนกว่า เหมือนกับผลักเขาออกไป มีจริงหรือไม่มีจริงเป็นอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งข้อเท็จจริงความหมายของ “ผู้ก่อการร้าย” มันมากกว่านั้น ต้องมีการจัดตั้งกองกำลัง ต้องมีการประกาศ ผู้ก่อการร้ายทุกแห่งในโลกนี้พอทำอะไรจะต้องประกาศออกมาว่าฉันเป็นคนทำ ยกตัวอย่างเช่นการระเบิดรถไฟที่สเปนมีคนตายเป็นร้อย เขาประกาศเลยกลุ่มฉันเป็นคนทำ เพราะเขาต้องการเครดิตในการต่อสู้ หรือในอุดมคดี หรือในประเด็นที่เขาต่อสู้อยู่

ของเราไม่ปรากฏ ของเราไม่มีใครออกมาประกาศว่าฉันเป็นกลุ่มนี้ ฉันทำอย่างนั้นอย่างนี้ ไม่มีใครประกาศเลย เหมือนเป็นตุ๊กตาที่ถูกสร้างจากฝ่ายรัฐบาล ดิฉันคิดว่าถ้ารัฐบาลเชื่อว่ามีผู้ก่อการร้ายจริง รัฐบาลจะต้องทุ่มสรรพกำลังลงไปสืบสวนสอบสวนให้ได้ว่ามีผู้ก่อการร้ายจริง ไม่อย่างนั้นแล้วจะเป็นอันตรายต่อสังคมไทย ไม่ใช่ปล่อยไปเฉยๆ ไม่ใช่พอเหตุการณ์จบลงไปก็หายไปตามสายลม

ถ้าเราทำอย่างนั้นก็แสดงว่าอีกหน่อยรัฐบาลจะพูดอะไรก็ได้ ขณะนี้ ศอฉ. ภายใต้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้กระทำการหลายอย่างที่ละเมิดสิทธิคนอื่น ยกตัวอย่างเช่นผังล้มเจ้า ซึ่งคิดว่าเป็นเรื่องร้ายแรงมากที่เอาชื่อคนนั้นคนนี้ไปใส่ปะปนกันโดยไม่มีหลักฐานชัดเจน การจะยึดโยงคนเหล่านี้เข้าด้วยกันไม่มีเอกสารอะไรสักชิ้นหนึ่ง ไม่มีอะไรเลย อยู่ดีๆก็ทำผังขึ้นมา ซึ่งไม่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับดิฉัน แล้วเป็นเรื่องที่คนทำงานเกี่ยวกับเรื่องเชิงความลับ หรือหน่วยงานสายลับต่างๆ เขามองก็ขำว่ารัฐบาลทำอันนี้ขึ้นมาด้วยความตั้งใจจริงๆ ผังนี้หรือคำว่าก่อการร้าย ศอฉ. ต้องถามตัวเองให้มากๆว่าทำเพื่ออะไร ใช้เพื่ออะไร แล้วจะให้จบแบบไหน

วาทกรรมกับการล้อมปราบ

ในข้อเท็จจริงสำหรับดิฉันแล้ว เหตุการณ์วันที่ 10 เมษายนถือเป็นการล้อมปราบ แล้วเหตุการณ์วันที่ 13-19 พฤษภาคมถือเป็นการปราบปรามประชาชน การที่รัฐบาลใช้คำว่า “ขอคืนพื้นที่” หรือ “กระชับวงล้อม” เป็นภาษาเบาเพื่อทำให้เห็นว่าการที่รัฐบาลทำกับ นปช. ไม่ได้เกินกว่าเหตุ จึงใช้คำว่า “กระชับวงล้อม-กระชับพื้นที่” ซึ่งในข้อเท็จจริงแล้วจะเรียกอะไรก็ตาม แต่เป็นความต้องการที่จะทำกึ่งๆสงคราม คือมีการเอาถุงทรายมาทำเป็นบังเกอร์เต็มไปหมด ซึ่งเหตุการณ์สงบไปตั้งเป็นเดือนแล้วก็ยังอยู่ เพราะฉะนั้นแล้วภาษาที่รัฐบาลใช้กับสิ่งที่รัฐบาลปฏิบัติมันสวนทางกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งคำว่าก่อการร้าย เมื่อเป็นก่อการร้ายมาตรการของรัฐบาลจึงหนักแบบนี้ ในสิ่งหรือวิธีคิดที่ ศอฉ. คิดคือรัฐบาลคิด

การปราบปรามจะเป็นบรรทัดฐานใหม่หรือไม่

ดิฉันเกรงว่าจะกลายเป็นมาตรฐานของรัฐบาลพลเรือน ตั้งข้อสังเกตอย่างนี้ว่าเหตุการณ์ในอดีตส่วนใหญ่เกิดขึ้นจากรัฐบาลทหาร อันนี้เราเรียกว่าเป็น “รัฐบาลเผด็จการ” ยกเว้นเหตุการณ์วันที่ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นการล้อมฆ่านักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์แล้วนำไปสู่การปฏิวัติรัฐประหาร ด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม เหตุการณ์เหล่านี้ถ้าสมมุติว่าสังคมไม่ตั้งคำถามกับสิ่งที่รัฐบาลทำ ต่อไปจะกลายเป็นรัฐบาลพลเรือนที่ปราบปรามประชาชน ใช้ชีวิตของประชาชนเพื่อจะแก้ปัญหาของตัวเอง ซึ่งเราไม่ควรมีบรรทัดฐานแบบนี้เกิดขึ้น

รัฐบาลชุดนี้เป็นรัฐบาลพลเรือนชุดแรกที่มีการปราบปรามประชาชนเสียชีวิตจำนวนมาก เสียชีวิตมากกว่าการชุมนุมทางการเมืองในอดีต เพราะฉะนั้นแล้วมันเป็นเรื่องที่น่าเสียใจ เพราะเป็นรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง เป็นรัฐบาลที่เราเรียกว่ามาจากกระบวนการประชาธิปไตยที่มาจากประชาชน โดยประชาชน และเพื่อประชาชน เพราะฉะนั้นถ้ามีการสูญเสียชีวิตจากตัวรัฐบาลเอง นักประชาธิปไตยส่วนใหญ่ก็ต้องตั้งคำถามกับรัฐบาล

การแสดงความรับผิดชอบทางการเมือง

ดิฉันคงต้องยืมคำของอาจารย์พนัสที่ไปออกรายการทีวี.ตั้งแต่วันที่ 10 เมื่อมีการเสียชีวิต อาจารย์ให้สัมภาษณ์ในช่องโทรทัศน์ช่องหนึ่ง ก็เลยถามอย่างนี้อาจารย์คิดว่ารัฐบาลควรจะทำอย่างไร อาจารย์ก็ตอบว่าลาออก คือนายกรัฐมนตรีต้องลาออก ดิฉันมองว่ารัฐบาลจะยังอยู่ก็ได้ สำหรับดิฉันนะ จริงๆดิฉันเองโดยส่วนตัวแล้วชอบคุณอภิสิทธิ์ ชอบมานานแล้วด้วย แต่เหตุการณ์ครั้งนี้ดิฉันอยากให้คุณอภิสิทธิ์ลาออก เนื่องจากเราต้องการให้คุณอภิสิทธิ์เป็นนักการเมืองที่มีศักยภาพ สามารถเล่นการเมืองโดยไม่ต้องแปดเปื้อน ไม่ต้องถูกต่อว่าต่อขานในอนาคต

แต่ถ้าไม่ลาออกก็เสียใจ อันนี้เป็นความเสียใจส่วนตัวเท่านั้นเอง แต่โดยหลักการแล้วดิฉันมองว่าถ้าเหตุการณ์มาถึงขนาดนี้ รัฐบาลหรือนายกฯต้องลาออก เราเสียดายว่าไม่น่าจะเป็นมาตรฐานแบบนั้น

วาทกรรมนี้ของ “อภิสิทธิ์”

เป็นนักการเมืองก็ต้องระวังคำพูด เพราะคำพูดของเราเมื่อพูดออกไปแล้วจะเป็นนายเหนือเรา ไม่ใช่เฉพาะอันนี้ ครั้งหนึ่งคุณอภิสิทธิ์เคยอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐบาลคุณบรรหาร ศิลปอาชา ซึ่งขณะนั้นพรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่ายค้าน แล้วคุณอภิสิทธิ์อภิปรายปิดตอนจบ คุณอภิสิทธิ์กล่าวว่าคุณบรรหารเป็นโมฆะบุรุษ ซึ่งคำว่า “โมฆะบุรุษ” แปลว่าอะไร แปลว่าจบ แปลว่าใช้ไม่ได้ พูดง่ายๆก็คือคุณอภิสิทธิ์ว่าคุณบรรหารเป็นนายกรัฐมนตรีที่ใช้ไม่ได้ ในกรณีนี้ดิฉันก็คิดว่าคุณอภิสิทธิ์ก็เป็นโมฆะบุรุษ

เหตุการณ์ 14 ตุลา-พฤษภา 35 ผู้เสียชีวิตได้รับการยกย่องเป็นวีรชน แต่ครั้งนี้จะเรียกอย่างไร

ใครจะเป็นวีรชนหรือไม่ สำหรับดิฉันแล้วต้องให้ประวัติศาสตร์ในอนาคตเป็นผู้ให้คำตอบ ดิฉันไม่ได้คิดว่าใครเป็นวีรชน แต่ผู้ที่เสียชีวิตเรียกร้องตามอุดมการณ์ตามสิ่งที่เขาเชื่อ ไม่ว่าจะเป็นปี 2535 หรือปี 2553 เขามีสิทธิและมีเจตจำนงในฐานะที่เป็นหนึ่งเสียงของประเทศนี้ที่จะบอกว่าเขาต้องการอะไรก็ไปทำอย่างนั้น แต่เกิดอุบัติเหตุทางชีวิตจากการล้อมปราบ ทำให้เขาเสียชีวิต เขาก็ควรจะถูกโจษจันว่าเป็นผู้เสียชีวิต แต่จะเป็นวีรบุรุษหรือไม่ให้ประวัติศาสตร์เป็นผู้บอก

มองย้อนกลับดูเอกสารประวัติศาสตร์ “พฤษภา 2535” บอกอะไรได้บ้าง

หนังสือเล่มนี้ชื่อ “หาย ตาย เจ็บ ภาพสะท้อน การถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานของประชาชนไทย” อันนี้เราจัดทำครบรอบ 1 ปีเหตุการณ์พฤษภาคม 2535 ซึ่งดิฉันเรียกว่า “พฤษภามหาโหด” แต่พฤษภาคมปีนี้ดิฉันเรียก “พฤษภาอำมหิต” คือยิ่งกว่ามหาโหด นอกจากนี้ยังมีการไต่สวนสาธารณะ ซึ่งจัดที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะเดียวกันศูนย์ฮอตไลน์มหาวิทยาลัยมหิดล เราเก็บศพไว้ที่โรงพยาบาลศิริราช 3 ศพ เป็นชายไม่ทราบชื่อ เราพยายามจะหาญาติ เริ่มต้นมีศพไม่ทราบชื่อประมาณสิบกว่าศพ ต่อมาก็เจอญาติไปเรื่อยๆเพราะมีการเอารูปไปประกาศในที่ต่างๆ จัดสัมมนา จัดอะไรไปก็พบไป จนเหลือ 3 ศพ เราก็เก็บไว้นานจนให้ญาติมาดู คนมาดูเยอะก็ยังไม่ใช่ เราก็เลยจัดฌาปนกิจ ซึ่งรัฐบาลและมหาวิทยาลัยมหิดลเป็นเจ้าภาพ อยากจะเรียนว่ารัฐบาลคุณชวน หลีกภัย ในยุคนั้นเป็นเจ้าภาพจัดงานนี้ด้วย ฌาปนกิจศพชายไม่ทราบชื่อซึ่งเสียชีวิตจากเหตุการณ์พฤษภาคม 2535

แต่ในเหตุการณ์พฤษภาคม 2553 มีผู้เสียชีวิตเป็นชายไม่ทราบชื่อ 5 ราย ในนี้เป็นเด็กผู้ชาย 1 คน และเป็นหญิงไม่ทราบชื่อ 1 คน ทั้งหมด 6 คน ก็ควรจะมีความพยายามที่จะตามหาญาติให้ได้ กระบวนการตรงนี้เป็นของใครก็ต้องทำ

องค์กรสิทธิมนุษยชนในประเทศและต่างประเทศให้ความสนใจมากน้อยขนาดไหนกับวิกฤตการเมืองไทยครั้งนี้

เข้าใจว่าเขาให้ความสนใจอย่างมากเลยทีเดียว อาจารย์ศรีประภา เพชรมีสี ซึ่งเป็นอาจารย์ของศูนย์สิทธิมนุษยชนเพื่อการศึกษาและพัฒนาสังคมของมหาวิทยาลัยมหิดล ท่านเป็นหนึ่งในคณะกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนของอาเซียน ก็ได้เขียนจดหมายเปิดผนึกถึงนายกรัฐมนตรีให้ยุติการปราบปรามหลังวันที่ 10 เมษายน หมายความว่าหยุดการกระทำที่ทำให้เกิดการสูญเสีย เรียกร้องให้เกิดการเจรจา ซึ่งดิฉันเข้าใจว่ากลุ่มที่ทำงานในภูมิภาคก็สนใจเรื่องนี้มาก เขาอยากจะเข้ามาประเมินสถานการณ์เหตุการณ์พฤษภาคม 2535 มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนภาคเอเชีย ซึ่งรวมทั้งองค์กรที่เป็นองค์กรใหญ่ก็เข้ามาติดตามสถานการณ์และทำรายงานออกมาเล่มหนึ่งเหมือนกัน ดิฉันเข้าใจว่าในปี 2535 เราให้กรรมการต่างประเทศเข้ามาได้ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก แต่ปัจจุบันดิฉันเข้าใจว่ารัฐบาลยังมีความรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเข้ามา สำหรับดิฉันแล้วถ้ามีความเชื่อมั่นว่าเรื่องผู้ก่อการร้าย เชื่อมั่นในสิ่งที่รัฐบาลทำว่าไม่เกินกว่าเหตุ ก็น่าจะอนุญาตให้องค์กรต่างประเทศเข้ามาเป็นกรรมการร่วม หรืออะไรก็ตามแต่

การคง พ.ร.ก.ฉุกเฉิน การจับกุมแกนนำ หรือผู้ถูกสังหารกับการละเมิดสิทธิมนุษยชน

ดิฉันกับคณาจารย์จำนวนมากเรียกร้องให้ยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินทันที เพราะคิดว่าขณะนี้สถานการณ์คลี่คลายลงไปแล้ว เนื่องจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินในมาตรา 17 ให้อำนาจเจ้าหน้าที่และรัฐบาลอย่างกว้างขวางแล้วมันก็มีความคลุมเครือ ตัว พ.ร.ก. เองก็ไม่พูดว่าอะไรไม่เกินกว่าเหตุ อะไรไม่เกินกว่ากรณีจำเป็น ไม่มีความผิดทางแพ่ง ทางอาญา ทางวินัย

อะไรที่เกินกว่าเหตุ เกินความจำเป็น ก็ให้ดำเนินการฟ้องร้องได้นั้น มันมีเส้นบางมากที่จะบอกว่าอะไรเกินความจำเป็น อะไรเกินกว่าเหตุ การตายในวัดปทุมวนาราม ถ้าสมมุติเป็นเจ้าหน้าที่ทำจริง อันนั้นเกินกว่าเหตุแน่ ถ้ามีการสอบสวนแล้วพบว่าเจ้าหน้าที่ทำจริง เนื่องจากเหตุการณ์ชุมนุมยุติลงแล้ว แล้วเราก็มีพยานอยู่ในวัดปทุมวนารามเป็นพันที่เห็นว่าผู้เข้าไปอยู่ในวัดไม่มีอาวุธ เรามีพยานทั้งที่เป็นผู้สื่อข่าวต่างประเทศ ผู้สื่อข่าวไทย หน่วยกู้ชีพ จนหน่วยกู้ชีพเสียชีวิต มีพระอยู่เต็มไปหมด อันนี้จะบอกได้ถ้ามีการสืบสวนสอบสวนที่จัดตั้งโดยองค์กรอิสระ

การพิสูจน์กระสุนปืนมาจากฝ่ายใด

ในข้อเท็จจริงโดยละเอียดดิฉันคงตอบไม่ได้ แต่อยากจะเรียนว่าคณะที่ทำงานกู้ภัยกู้ชีพ หน่วยฉุกเฉินเหล่านี้เขาร้องขอความเป็นธรรมในเรื่องนี้มาก เขาไม่มีช่องทางที่จะพูด สื่อโทรทัศน์ซึ่งเป็นฟรีทีวี.ต่างๆไม่เชิญเขาออกไปพูด เขาต้องเดินสายเอง ไปพูดในที่ต่างๆ ผลิตซีดีออกมาเอง ผลิตโปสเตอร์ออกมาให้เห็นว่าการเสียชีวิตของหน่วยกู้ชีพพวกนี้เป็นการกระทำที่เกินกว่าเหตุ เพราะฉะนั้นตรงนี้มีผู้ซึ่งพร้อมจะให้ปากคำอยู่แล้ว มีแต่หนังสือพิมพ์ที่ช่วยเขา

เพราะฉะนั้นดิฉันเองไม่ได้อยู่ในเหตุการณ์ ไม่ได้ตามเหตุการณ์ แต่อ่านจากอินเทอร์เน็ตเท่าที่จะอ่านได้ แล้วพบว่ามีผู้เสียชีวิตในคืนนั้น ดิฉันก็มีความรู้สึกว่าเหตุการณ์สงบแล้ว หมายความว่าในแง่ของผู้ชุมนุมสลายแล้ว โอเคอาจมีไฟไหม้มีอะไร แต่ว่าคนที่เข้าไปอยู่ในวัดซึ่งมีป้ายใหญ่โตว่าเป็นเขตอภัยทาน คนของรัฐหลายคนก็ออกมายอมรับว่าให้เป็นเขตอภัยทาน แล้วยังมีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้น คือต่อให้เป็นผู้ก่อการร้ายรัฐบาลก็ต้องสอบสวน ไม่ว่าเขาตายโดยผู้ก่อการร้ายหรือตายโดยเจ้าหน้าที่รัฐก็ต้องสอบสวน กรณี 6 ศพในวัดปทุมฯเป็นกรณีที่ควรสอบสวนเป็นพิเศษ

รัฐบาลควรปฏิบัติต่อคนเสื้อแดงอย่างไรหากต้องการสร้างความปรองดองจริงๆ

คิดว่าความจำเป็นในการทำงานครั้งนี้ต้องมีกรรมการอิสระตรวจสอบข้อเท็จจริงของเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น อันนี้เป็นความจำเป็นยิ่งยวด แต่ที่มาของคณะกรรมการ ดิฉันเข้าใจว่าพรรคประชาธิปัตย์เองก็มี ส.ส. ที่มีความคิดและมีคุณภาพจำนวนมาก อย่างอาจารย์ไกรศักดิ์ ชุณหะวัณ ก็เสนอว่ากรรมการลักษณะแบบนี้ควรตั้งจากรัฐสภา คือวิธีการมีหลากหลาย ให้สภาเป็นคนตั้งเอง หรือนายกฯเลือกคนแล้วให้สภาอนุมัติ ทำคล้ายกับในสหรัฐอเมริกาที่จะตั้งใครในตำแหน่งที่สำคัญต้องให้รัฐสภาอนุมัติ ไม่ใช่รัฐบาลตั้งเอง เนื่องจากรัฐบาลเป็นผู้ปราบเอง เป็นผู้ขัดแย้งเอง กรรมการชุดนี้มีความสำคัญ จึงต้องไม่ใช่เป็นคู่ขัดแย้ง

บทเรียนของประชาชน

บทเรียนนี้คือ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน รัฐบาลทหาร รัฐบาลพลเรือนที่ใช้ปราบปรามประชาชน จริงๆแล้ว พ.ร.ก.ฉุกเฉินต้องยกเลิก ดิฉันเข้าใจว่าเรามีเครื่องไม้เครื่องมืออื่นๆที่จะจัดการกับความไม่สงบภายในบ้านเมืองไม่ว่าจะรูปแบบใดๆ คือถ้าจะมีกฎหมายลักษณะแบบนี้ต้องไม่มีมาตราที่เป็นมาตราพิเศษ แม้แต่คุณอภิสิทธิ์เองเคยกล่าวไว้สมัยที่ออก พ.ร.ก.ฉุกเฉินว่าเหมือนรัฐธรรมนูญ 2 ฉบับ หวั่นว่าใช้แล้วคนจะหวาดระแวงและเกิดความแตกแยก นี่คือคำพูดของคุณอภิสิทธิ์เมื่อ 5 ปีที่แล้ว เมื่อเดือนสิงหาคม 2548 คุณอภิสิทธิ์เองก็เห็นแล้วจริงๆ และมีการใช้มากที่สุดในช่วงที่คุณอภิสิทธิ์เป็นนายกรัฐมนตรี ถ้าความคิดของคุณอภิสิทธิ์ยังเหมือนเดิมกับเมื่อเดือนสิงหาคม 2548 นั่นก็หมายความว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินได้สร้างความหวาดระแวง ความหวาดกลัว จนเกิดความแตกแยกขึ้นมา นี่เอาความคิดคุณอภิสิทธิ์เป็นตัวนำ ฉะนั้นถ้าคุณอภิสิทธิ์ยังคิดแบบเดิมมันต้องยกเลิก

http://www.dailyworldtoday.com/newsblank.php?news_id=7210

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น